top of page

Inside Osaka World Expo 2025: เปิดประตูสู่แรงบันดาลใจในการออกแบบระดับโลก

Osaka World Expo 2025

ในฐานะสตูดิโอออกแบบที่เชื่อในพลังของการสร้างพื้นที่ที่มีคุณค่าโดดเด่น และเปลี่ยนทุกไอเดียสู่งานที่สร้างแรงบันดาลใจ The Collective Studio ได้มีโอกาสสำรวจงาน "Osaka World Expo 2025" หนึ่งในมหกรรมงานออกแบบระดับโลกที่ทุกคนรอคอย


"Osaka World Expo 2025" เป็นมหกรรมระดับโลกที่ทุกคนรอคอยและจับตามอง เพราะไม่ใช่เพียงแค่การแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเปิดพื้นที่ให้ประเทศต่างๆ ได้แสดงแนวคิดที่เชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรม เทคโนโลยี และวิสัยทัศน์ของอนาคตอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นี่จึงเป็นเหตุผลที่ The Collective Studio ตัดสินใจเดินทางไปชมงานนี้ เพราะเราต้องการเรียนรู้และซึมซับแรงบันดาลใจใหม่ๆ ที่สามารถนำกลับมาต่อยอดในงานออกแบบของเรา

Osaka World Expo 2025
Expo 2025, Osaka Kansai Japan

ในงาน "Osaka World Expo 2025" ครั้งนี้ เราได้สำรวจ Pavilion หลากหลายประเทศที่ล้วนสะท้อนแนวคิดแห่งอนาคตและวิสัยทัศน์ในการออกแบบที่โดดเด่นแตกต่างกันออกไป และอยากเล่าพาวิลเลียนที่เราประทับใจให้ได้ชม


Belgium Pavilion: ศิลปะแห่งการเชื่อมโยงชีวิตผ่านน้ำ

เราเข้าไปชมพาวิลเลียนเบลเยียมที่นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ "น้ำ" ในฐานะสัญลักษณ์แห่งชีวิต ด้วยพื้นที่ 3 ชั้นที่แสดงสถานะของน้ำทั้ง 3 รูปแบบ คือ ของแข็ง ของเหลว และแก๊ส ตัวนิทรรศการออกแบบในแนวคิด "การสร้างใหม่ของมนุษย์" โดยใช้หลักปรัชญา Kintsugi ของญี่ปุ่น ที่เน้นความงามในการซ่อมแซมด้วยทองคำ สะท้อนถึงคุณค่าของการรักษาชีวิตและการฟื้นฟูสุขภาพ จุดเด่นคือการใช้ระบบการแสดงแบบ Immersive ที่ผสมผสาน AI และ Digital Twin Technology เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ของเบลเยียม ที่เป็นแหล่งในการผลิตวัคซีนระดับโลก เป็นการนำเสนอที่ดรียบง่าย แต่สวยงาม เล่าเรื่องแบบมีความเป็นศิลปะประกอบ


France Pavilion: การแสดงชีวิตผ่านบันไดเกลียวแห่งความรัก

การออกแบบโดย Coldefy & Associés ร่วมกับ Carlo Ratti Associati ภายใต้ธีม "Theatre of Life" ด้านหน้านำเสนอบันไดเกลียวสีทองแดงขนาดยักษ์ที่เป็นจุดสนใจหลัก ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากตำนาน Akai Ito ของญี่ปุ่น เกี่ยวกับเส้นใยแดงแห่งโชคชะตา การออกแบบประสบการณ์ชมที่ผสานระหว่างธรรมชาติและเทคโนโลยี นำผู้เยี่ยมชมผ่านรูปแบบที่หลากหลาย พื้นที่ภายในมีสวนลับที่เป็นการนำเสนอธรรมชาติให้เป็นการมองประติมากรรม โดยรวมระบบนิเวศของฝรั่งเศสหลากหลายรูปแบบ ฝรั่งเศสได้เสิร์ฟประสบการณ์ที่ผสมผสานงานศิลปะ การออกแบบ และเทคโนโลยีอย่างลงตัว สะท้อนความเป็นผู้นำด้านแฟชั่นอย่างแท้จริง


Spain Pavilion: กระแสคุโรชิโอะแห่งการเชื่อมโยง
Spain Pavillion

ทีมออกแบบจาก Néstor Montenegro, Enorme Studio และ Smart and Green Design สร้างผลงานภายใต้แนวคิด "Kuroshio's Current" ที่ได้แรงบันดาลใจจากกระแสน้ำทะเลที่เชื่อมต่อสเปนและญี่ปุ่นมาหลายศตวรรษ การออกแบบสถาปัตยกรรมที่สร้าง Space ภายในที่มีความหลากหลาย




ห้องแรกตกแต่งภายในนิทรรศการที่เน้นการไหลเวียนแบบกระแสน้ำ ประกอบสื่อภาพเคลื่อนไหว ในหลายรูปแบบ แถมยังมีจุดที่ทำให้เราคาดไม่ถึง กับการเปลี่ยนบรรยากาศเข้าสู่ความเป็น “สเปน” ผ่านการย้อมสีห้องให้เป็นสีส้ม เหลือง แดง เรียกว่ากล้าทำมากๆ เราชอบที่เป็นพาวิลเลียนที่งานออกแบบทั้งหมดไปด้วยกันอย่างเป็นเอกภาพตั้งแต่สถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน เรื่องราวของนิทรรศการ และงานกราฟิก 


Germany Pavilion: วงจรเศรษฐกิจที่สมบูรณ์แบบ
Germany Pavilion


LAVA Architects นำเสนอแนวคิด "Wa! Doitsu" (ว้าว! เยอรมนี) ที่เป็นการแสดงออกถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์แบบ (Circular Economy) การออกแบบที่มุ่งเน้นการลดของเสียให้เป็นศูนย์และลดการใช้ทรัพยากร ผ่านระบบการแสดงที่สื่อสารแนวคิดความยั่งยืน การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ใช้วัสดุรีไซเคิลและสามารถรื้อถอนกลับมาใช้ใหม่ได้ 100%



พื้นที่ Exhibition ภายในแบ่งเป็นโซนต่างๆ ที่แสดงนวัตกรรมเยอรมนีในด้านเทคโนโลยีสีเขียว ระบบพลังงานทดแทน และวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่น่าสนใจคือเป็นพาวิลเลียนที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ของประเทศเยอรมันไปโดยสิ้นเชิง จาก Branding ประเทศแบบจริงจัง มีระเบียบวินัยสูง ผ่าน The Circulars น้องมาทคอตที่ไม่ได้แค่น่ารัก แต่ยังเป็นคู่หูอัจฉริยะที่ช่วยผู้เยี่ยมชมสำรวจพาวิลเลียน สามารถพูดได้หลายภาษา เล่าเรื่องราวเป็น Audio Guide ที่สร้างให้เรารู้สึกมีส่วนร่วมในกระบวนการคิดเกี่ยวกับอนาคตที่ยั่งยึน เรียกว่าเป็นนิทรรศการที่ทำให้เราสนุกเพลิดเพลินเลยทีเดียว


Netherlands Pavilion: รุ่งอรุณใหม่แห่งพลังงานสะอาด

RAU Architects ร่วมกับ Tellart ออกแบบภายใต้ธีม "A New Dawn" ด้วยลูกบอลเรืองแสงขนาดยักษ์เป็นจุดศูนย์กลาง รายล้อมด้วยผนังลามิเนตที่เลียนแบบคลื่นน้ำ สะท้อนความเชื่อมโยงของเนเธอร์แลนด์กับน้ำและการใช้พลังงานทดแทน การสถาปัตยกรรมที่ออกแบบให้รื้อถอนได้ 100% ทุกชิ้นส่วนถูกระบุและจัดเก็บเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่หลังงาน Expo ครบ


ผู้เยี่ยมชมจะได้รับลูกบอลเรืองแสงเวอร์ชันจิ๋วที่จะสว่างขึ้นและตอบสนองต่อการจัดแสดงต่างๆ ขณะสำรวจ สร้าง User Experience ที่น่าสนใจผ่าน interactive การแสดงเน้นความท้าทายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และโซลูชันเทคโนโลยีสำหรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน



Portugal Pavilion: บทสนทนาสีน้ำเงินกับมหาสมุทร
Portugal Pavilion

Kengo Kuma & Associates สร้างผลงานภายใต้ธีม "Ocean: The Blue Dialogue" ด้วยโครงสร้างที่ใช้เชือกแขวนและแหอวนรีไซเคิล เลียนแบบการเคลื่อนไหวของคลื่นน้ำ วัสดุเหล่านี้โต้ตอบกับแสงแดดและลมอย่างมีชีวิตชีวา สื่อถึงความมุ่งมั่นของโปรตุเกสต่อเศรษฐกิจหมุนเวียน พื้นที่ 1,837 ตารางเมตร แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ "Sharing Knowledge" ที่แสดงความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างโปรตุเกสและญี่ปุ่นเมื่อ 500 ปีก่อน และ "Partnering for a Sustainable Future" ที่เป็นประสบการณ์มัลติมีเดียแบบ Immersive กับการแสดงภาพและเสียง 5 นาที การตกแต่งภายในยังรวมร้านอาหารโปรตุเกส ร้านค้าปลีก และพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับกิจกรรม การออกแบบที่เป็นUniqueในการสื่อสารแนวคิดความร่วมมือเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการอนุรักษ์ทะเลและนวัตกรรมที่ยั่งยืน


Saudi Arabia Pavilion: หมู่บ้านดิจิทัลแห่งอนาคต

Foster + Partners ร่วมกับ Journey สร้างประสบการณ์ที่เลียนแบบการสำรวจเมืองและหมู่บ้านแบบดั้งเดิมของซาอุดีอาระเบีย ด้วยอาคารเหลี่ยมหลายหลังที่เชื่อมต่อกันด้วยทางเดินแบบถนนในหมู่บ้าน การสถาปัตยกรรมที่ผสมผสาน Computational Design กับเทคนิคการระบายอากาศแบบดั้งเดิม ใช้กระแสลมธรรมชาติไหลผ่านทางเดินเพื่อช่วยระบายความร้อนในช่วงที่อากาศร้อน ด้านหน้าทางเดินต่อคิวเข้าชมมีลานปลูกต้นไม้ที่สร้างบรรยากาศเย็นสบาย เรียกว่าเป็นแนวคิดที่ท้าทายสภาพแวดล้อมมากๆ เพราะทางเดินจะเป็น Outdoor ทั้งหมด แต่ก็สร้างความรู้สึกที่แตกต่างจากประเทศอื่นจริงๆ การจัดแสดงภายในก็ทำให้เรารู้สึกถึงความเป็นประเทศอาหรับที่มีแนวคิดทันสมัย ทั้งด้านศิลปะ และวัฒนธรรมที่เปิดกว้างมากขึ้น ได้เห็นการนำเทคโนโลยืมาใช้ในการซ่อมแซมธรรมชาติอย่าง เช่น การปลูกปะการัง 3d Printing และเมืองใหม่ที่กำลังพัฒนาในอนาคต สะท้อนแนวคิดของการพัฒนาประเทศที่สมดุลระหว่างประเพณีและความทันสมัย



Singapore Pavilion: ที่แห่งความฝันเป็นจริง

DP Architects ร่วมกับ Kingsmen Exhibits ออกแบบภายใต้แนวคิด "Where dreams take shape" ด้วยโครงสร้างทรงกลมสูง 17 เมตร ปกคลุมด้วยแผ่นดิสก์รีไซเคิลสีแดงที่เรียบง่าย แต่โดดเด่น สร้างการจัดแสดงแบบ multi-sensorial ที่แสดงนวัตกรรมและแนวปฏิบัติที่ส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืน



Exhibition ภายในมุ่งเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและนวัตกรรมที่มีผลกระทบของสิงคโปร์ การออกแบบที่มีการใช้เทคโนโลยีและวัสดุรีไซเคิลอย่างสร้างสรรค์ สร้างประสบการณ์ให้ผู้เยี่ยมชมสามารถเขียนถึงความฝันต่อโลกในอนาคตร่วมกัน และส่งต่อไปยังท้องฟ้าด้านบน เป็น Interactive ที่ให้ความรู้สึกร่วมกัน สื่อสารวิสัยทัศน์ของสิงคโปร์ในการเป็นประเทศที่มีแนวคิดก้าวหน้าและยั่งยืน แสดงถึงความเป็นเมืองแห่งอนาคตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม


Uzbekistan Pavilion: อัญมณีแห่งเส้นทางสายไหม
Uzbekistan Pavilion

Atelier Brückner ร่วมกับ NUSSLI สร้างโครงสร้างที่เลียนแบบป่าไผ่ ด้วยเสาไม้เรียงซ้อนกันเหมือนกลุ่มป่า เป็นการแสดงความเคารพต่อที่พักพิงโบราณตามเส้นทางสายไหม การใช้องค์ประกอบไม้แบบโมดูลาร์ที่สามารถนำกลับไปสร้างใหม่ในอุซเบกิสถาน ภายในมีการแสดงที่นำเสนอวิสัยทัศน์ของประเทศเพื่ออนาคต ผ่านโมเดลเรืองแสง ไฮไลท์คือห้องฉายภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องผ่านเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรม เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน ด้วย

เทคนิคไฮดรอลิคยกเราขึ้นไปบนชั้น 2 โดยไม่ต้องเดิน 



Earthmart Special Pavilion: ตลาดโลกแห่งการขอบคุณ
Earth Mart Interior

Special Pavillion ที่โปรดิวซ์โดย Koyama Kundo ภายใต้แนวคิด "the cycle of lives" มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับคุณค่าของอาหารและความขอบคุณ ผ่านวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นที่หล่อเลี้ยงโดยคนญี่ปุ่น พื้นที่แบ่งเป็น "Marketplace of Life" ที่แสดงปริมาณอาหารที่มนุษย์บริโภคตลอดชีวิต เช่น ไข่ 28,000 ฟองที่คนญี่ปุ่นเฉลี่ยจะกินตลอดชีวิต ผ่านการจัดแสดงแบบพีระมิดคว่ำที่แขวนจากเพดานเหมือนโคมไฟ มีการนำเสนอที่มาของเนื้อสัตว์อย่าง วัว หมู ไก่ ที่สร้างความรู้สึกสะเทือนใจผู้ชม และบอกเราถึงปริมาณการบริโภคของมนุษย์ในแต่ละชาติ



ถัดมาเป็น "Marketplace of the Future" ที่นำเสนอ EARTH FOODS 25 วัตถุดิบและอาหารญี่ปุ่นที่เลือกสรรเพื่อความยั่งยืน คุณค่าทางโภชนาการ และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรื่องราวของ Exhibition ที่สร้างความเข้าใจเรื่องความขอบคุณ (itadakimasu) และแนวคิดที่ว่าความขอบคุณคือเมล็ดพันธุ์แห่งความสุข 


Malaysia Pavilion: การทอผ้าแห่งอนาคตในความกลมกลืน

มาเลเซียคราวนี้มอบหมายการออกแบบสถาปัตยกรรมให้ Kengo Kuma & Associates ออกแบบภายใต้ธีม "Weaving a Future in Harmony" โดยใช้ไผ่กว่า 5,177 ต้น สานเป็นลายเกล็ดที่เลียนแบบเทคนิค songket ของมาเลเซีย ภายนอกดูไม่ใหญ่ แต่ภายในมีพื้นที่ถึง 3 ชั้นรวม 2,654.52 ตารางเมตร การตกแต่งภายในที่มีงานศิลปะต้นไผ่และหวายขนาดใหญ่เป็น Centerpiece ของ Space ภายใน และมีสวนที่ปลูกพืชเขตร้อนและพืชเขียวบริเวณดาดฟ้า สร้างบรรยากาศธรรมชาติ การใช้กลิ่น Zen Bamboo แทรกอยู่ในพื้นที่เพื่อสร้างความรู้สึกสงบและสมดุล จุดเด่นคือการเปลี่ยนแปลงของอาคารในเวลากลางคืน ที่เปล่งประกายแสงเหมือนเส้นทองและเงินของผ้า songket สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของประเทศมาเลเซีย เป็นนิทรรศการที่อาจขจะดูเล่ากันตรงๆตามสไตล์ประเทศเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ที่รวมๆกันหลายเรื่อง แต่ก็ยอมรับว่าได้เห็น Vision ของประเทศในการพัฒนาเมืองไปในอนาคต


Thailand Pavilion: ภูมิปีมานแห่งภูมิคุ้มกัน

สุดท้ายของไทยเรากับงานออกแบบสถาปัตยกรรมของ Architects 49 Limited ออกแบบภายใต้แนวคิด "Bhumipiman – the Land of Immunity" ด้วยหลังคาแบบจอมแห และผนังกระจกขนาดใหญ่ที่สะท้อนสภาพแวดล้อม ใช้องค์ประกอบสถาปัตยกรรมไทยโบราณที่ลดขนาดลง พร้อมลวดลายที่เลียนแบบการสานหวาย เพื่อแสดงการเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อและภูมิปัญญาของคนไทย การเลือกสีและวัสดุที่สะท้อนความละเอียดอ่อนของการออกแบบไทย บนพื้นที่ 3,711 ตารางเมตร ประกอบด้วย 3 ห้องจัดแสดงที่นำเสนอวัฒนธรรมไทยสู่ชุมชนนานาชาติ ห้องฉายภาพยนตร์ และนิทรรศการเกี่ยวกับสาธารณสุขที่ก้าวหน้าของไทย (รึเปล่า) หน้าพาวิลเลียนมีเวทีสำหรับการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย ที่เป็นจุดขายหลักทุกวัน พร้อมมาสคอต "น้องภูมิใจ" ที่ต้อนรับผู้เยี่ยมชมด้วยรอยยิ้มไทย 


ซึ่งจากที่ดูจะเห็นได้ว่าพาวิลเลียนของไทยนั้นดูขาดพลังในการนำเสนอเป็นอย่างมาก ถ้าเราดูจากหลายๆประเทศที่ผ่านมา ต่างก็นำเสนอมุมมองต่ออนาคต แนวคิดของประเทศ ที่สื่อสาร Branding ของประเทศนั้นๆให้ผู้ชมรู้จักในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งหลายประเทศทำไ้ด้ดี จากที่เราไม่เคยมีความคิดจะไปเยือนทำให้อยากไปรู้จักประเทศเหล่านั้นให้มากขึ้น แต่ของไทย ขนาดเราเป็นคนไทยเองยังไม่รู้สึกถึงความเป็นไทยในแง่ใดนอกจากช้างที่ตั้งอยู่ด้านหน้า และศาลาที่ดูเป็นไทย ไว้เราจะมาวิเคราะห์วิจารณ์งานออกแบบศาลาไทยในโอกาสถัดไป 


Tour Osaka World Expo 2025

ประสบการณ์จาก Osaka World Expo 2025 เปิดมุมมองใหม่ให้เราเห็นถึงการออกแบบที่เชื่อมโยงกันระหว่างการออกแบบงาน สถาปัตยกรรม, ตกแต่งแต่งภายใน, กราฟฟิก, การสร้างประสบการณ์ของผู้ชม และเรื่องราวของนิทรรศการ รวมถึง Branding ที่แต่ละประเทศต้องการนำเสนอนั้นมีความสอดคล้องกันอย่างมีแก่น


ประสบการณ์จากงานครั้งนี้ไม่ได้เพียงแต่เพิ่มมุมมองใหม่ๆ ในการออกแบบให้กับทีมของเราเท่านั้น แต่ยังช่วยตอกย้ำความเชื่อของเราว่าการออกแบบที่ดีคือการออกแบบที่สามารถเปลี่ยนพื้นที่ธรรมดาให้กลายเป็นพื้นที่ที่มีชีวิตและสร้างแรงบันดาลใจได้จริง นำไอเดียและเรียนรู้จากวิธีการที่สถาปนิกระดับโลกอย่าง Kengo Kuma, Foster + Partners, LAVA Architects ฯลฯ มาต่อยอดในผลงานการออกแบบของเรา เพื่อสร้างสรรค์พื้นที่ที่มีความหมายและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนต่อไป

bottom of page